000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ > เสียงของกรวย (ลำโพง)
วันที่ : 26/04/2016
19,352 views

เสียงของกรวย (ลำโพง)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ดอกลำโพงเสียงกลางทุ้มจะใช้กรวยที่ทำจากวัสดุต่างกันไป โดยแต่ละวัสดุก็มีข้ออ้างคุณภาพที่เหนือชั้นกว่าวัสดุอื่นๆ ดอกลำโพงกลางทุ้มจะให้เสียงแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ สาเหตุหลักก็มาจากกรวยลำโพงที่ใช้วัสดุต่างกัน เรามาดูว่าแต่ละวัสดุจะให้บุคลิกเสียงต่างกันอย่างไร

          กรวยกระดาษ การนำกระดาษมาทำเป็นกรวยมีมาแต่ในอดีตกว่า 70 ปีแล้ว  กระดาษนับเป็นวัสดุพื้นฐานแรกสุดของการก่อกำเนิดดอกลำโพง เนื่องจากหาง่ายและสมัยนั้นนำมาขึ้นรูปเป็นกรวยได้ง่ายที่สุด

          ดอกลำโพงกรวยกระดาษ จะมีหลายเกรดมาก พวกราคาถูกๆจะเป็นกระดาษแผ่นนำมาตัดทากาวม้วนเป็นกระบอก เป็นรูปกรวยลำโพง กระดาษพิเศษพวกนี้จะเหนียวและทนความร้อน,ความชื้น,แรงเครียด ได้ดีกว่ากระดาษทั่วไป แต่จะได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพกระดาษเองด้วย อันเป็นตัวกำหนดราคาของกรวยและดอกลำโพง ถ้าของถูกๆเราจะพบปัญหาความชื้น ทำให้กรวยย่นง่ายเมื่อถูกอัดหนักๆหรืออีกแนวจะกรอบง่ายเมื่อถูกแสงแดดส่องนานๆ แน่นอนว่าความไม่คงทนเหล่านี้ทำให้คุณภาพเสียงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ฟังใหม่ๆอาจจะไพเราะ แต่ไม่กี่อาทิตย์เสียงกลับไม่น่าฟัง

          ดอกลำโพงกรวยกระดาษอีกแบบ จะนำแผ่นกระดาษมาปั้มขึ้นรูปอย่างช้าๆเป็นรูปกรวย ซึ่งจะให้การกระจายของเสียงไปตามตัวกรวยได้ทั่วถึงเสมอกันมากกว่าแบบตัดอัดการพับเป็นกรวย การย่นจะลดลง เนื่องจากมีการกระจายแรงเครียดไปได้อย่างเสมอกันจากกลางกรวย หรือจากขอบกรวยมากลางกรวย ความเพี้ยนจะต่ำกว่าแบบแรก แต่ราคาก็แพงกว่ากรวยกระดาษถูกสุดจะปั้มขึ้นรูปแบบเร็วซึ่งกรวยมีสิทธิ์ย่นง่ายที่สุด

          ดอกลำโพงกระดาษแบบหล่อขึ้นรูปจะนำเยื่อกระดาษมาเคี้ยวจนเป็นของเหลวข้นแล้วนำมาฉีดขึ้นรูปเป็นกรวยเหมือนการหล่อ วิธีนี้กรวยจะไม่มีความเครียดเหมือนแบบปั้ม กรวยจึงทำงานได้ดีกว่า โอกาสย่นน้อยกว่า อีกทั้งสามารถปรับความหนา-บางของกรวยได้ให้เหมาะสมกับงานแต่ละแบบ วิธีนี้เป็นการทำกรวยกระดาษที่แพงที่สุด ดีที่สุด ว่ากันว่าจะให้เสียงดีกว่ากรวยวัสดุอื่นๆทั้งหมด (แต่ส่วนอื่นๆของดอกเช่น โครง,แม่เหล็ก,วอยส์คอยล์ ต้องถึงด้วย)

          กรวยกระดาษเคลือบสารเช่น ยางสน เพื่อให้แกร่งขึ้น ลดการก้องในกรวย ไม่หักย่นง่าย อีกทั้งทนต่อสภาพแวดล้อม บางทีเคลือบเซรามิคช่วยให้กรวยแกร่งยิ่งขึ้น แต่ก็จะหนักขึ้นประสิทธิภาพลดลง

          เสียงของกรวยกระดาษถ้าเป็นดอกถูกๆ เสียงจะเรียบๆ ไม่ถึงกับอุบาทว์หูจนรับไม่ได้ แต่ทุ้มสุด,แหลมสุดอาจไม่ได้เต็มที่ รายละเอียดยังงั้นๆทุ้มลงไม่ลึก ไม่เป็นลูก แต่ถ้ากรวยกระดาษชั้นดี (มักเคลือบสาร)เสียงจะคุ้นหู ใกล้เคียงเสียงจริง ให้โทนเสียง น้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ ฟังเพลิน ทุ้มเป็นตัวตนดี กลางมีเนื้อหนัง ช่วงกลางสูงอาจไม่โปร่งพลิ้วเต็มที่ (มักต้องอาศัยดอกแหลมลงมาช่วย)

          กรวยเคฟร่า วัสดุเคฟร่าเป็นวัสดุสังเคราะห์ ใช้ทำเสื้อเกราะกันกระสุน,ตัวถังรถแข่งสูตร 1 (FORMULA 1 ),หมวก กันน็อคคุณภาพสูง ฯลฯ จากการที่มันเหนียว,ทน,ไม่กลัวความร้อน,ความชื้น,ฝุ่น หักงอ/ย่นยาก เก็บตัวได้ดี กระชับ เสียงก้องในตัวน้อย  ข้อเสียคือ มักกินวัตต์ เนื่องจากน้ำหนักของมัน แต่ดอกลำโพงกรวยเคฟร่ารุ่นหลังๆก็กินวัตต์ลดลงมากจนเกือบพอๆกับกรวยกระดาเคลือบ

          เสียงของกรวยเคฟร่า เสียงจะชัดถ้อยชัดคำจริงจัง จากการที่มันหยุดได้เร็ว กระชับ หัวโน้ตจะมีรายละเอียดที่ดี เราจะรู้สึกว่า เสียงกลางลงต่ำก็ยังให้รายละเอียดได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเสียงสูงจึงจะมีรายละเอียด ถ้าออกแบบไม่ดีเสียงจะห้วนและไร้ชีวิตจิตใจไปหน่อย รายละเอียดหยุมหยิมไม่ดี หางเสียงห้วนไม่กังวานทิ้งตัวจนหยดสุดท้าย ช่องไฟระหว่างตัวโน้ตดี สงัดดี ในอดีตเสียงจากเคฟร่าจะแห้งไม่กังวานพลิ้วฉ่ำ ขาดลีลาท่าทีหรือผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามปัจจุบันกรวยเคฟร่าทำได้ดีขึ้นมากจนสุ้มเสียง น้องๆกรวยกระดาษดีๆได้แล้ว อาจจะขาดความอบอุ่นไปนิด แต่ก็สงัดกว่า รายละเอียดหยุมหยิมดีกว่า (TEXTURE) ดีกว่ากระดาษความถี่สูงไปได้พอๆกัน แต่ต่ำน่าจะดีกว่ากระดาษ อย่างไรก็ตาม ติดที่ราคา เคฟร่า (ดีๆ) แพงกว่ากระดาษมาก ฟังเทียบกับกรวยกระดาษดีๆคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเคฟร่าเสียงติดหูกว่า แต่ถ้าฟังนานๆจะพบว่ากระดาษดีๆผ่อนคลายกว่า ทรวดทรงดีกว่า ถ้าชอบเปิดอัดหนักๆกรวยเคฟร่าจะรับศึกได้ดีกว่า ฟังมันส์กว่า

          กรวยโลหะ ในอดีตเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว กรวยโลหะ (อลูมิเนียม)จะกินวัตต์มากเอาเรื่องเลย แถมเสียงไม่น่าฟัง มีแต่กลางและก้องๆพิกล มิติแบนไปหมด ไม่มีทรวดทรง ต่อมามีการพัฒนาใช้กรวยแบบพลาสติก (เช่นโปลีโพไพลีน)แล้วเคลือบด้วยผิวโลหะ (เช่น ติตาเนี่ยม) หรือปะด้วยแผ่นโลหะรีดบางเฉียบ (SANDWIDTH) ได้ความแกร่งของโลหะ และ เบากว่าด้วยโปลีโพไพลีน

          กรวยโลหะไม่ค่อยได้รับความสนใจ เสียงยังไม่ดีเต็มที่ จึงมีผู้ผลิตและผู้ใช้น้อย ปัจจุบันจะใช้กรวยแซนดิสโลหะกับดอกซับวูฟเฟอร์กันมากเพื่อความแกร่ง,กระชับทนทาน

          กรวยโปลี่โพไพลีน (POLYPOPYLENE) เป็นกรวยทำจากพลาสติกเอนกประสงค์ ข้อดีคือ สามารถหล่อให้กรวยมี รูปทรงปากแตรบานออกอย่างไรก็ได้ เพื่อช่วยรีดเสียง กระจายเสียงและแก้การหักงอ,ย่นของกรวย ตอนออกใหม่เมื่อเกือบ 30 ปีเสียงจะไม่น่าฟังเป็นเสียง “พลาสติก” เสียงร้องขาดเนื้อหนัง ฮาร์โมนิกส์เหมือนเสียงหุ่นมากกว่าเสียงคน ความกังวานไม่ค่อยดี ทุ้มดี แหลมดี ทนทานต่อสิ่งแวดล้อม กินวัตต์ (แต่ยังน้อยกว่ากรวยเคฟร่า) ช่องว่างระหว่างตัวโน้ตดี กระชับ แต่เสียงแห้งด้าน ทื่อๆทึบๆ

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการพัฒนาตัวยืดขอบกรวย (SURROUND)ดีขึ้น เช่นใช้ยางบีทีลทำให้เสียงดีขึ้น น่าฟังขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ยังออกบาง มวลหรือเนื้อเสียงยังสู้เคฟร่าหรือกระดาษเคลือบไม่ได้ แต่ก็ให้ความสงัดได้ดี เสียงจะอ่อนโยนกว่าเคฟร่าดีๆหน่อย แต่เนื้อหนัง ตัวตนด้อยกว่าเคฟร่า

          กรวยโปลี่โพไพลีนได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุด เนื่องจากตัวโปลี่ฯเองก็มีสารพัดเกรด จึงทำลำโพงให้ออกมาได้หลากหลายแนวเสียงและราคา (แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของเสียงเคฟร่า) อีกทั้งสามารถผลิตแบบอุตสาหกรรมได้ ช่วยลดต้น    ทุนได้มาก ลำโพงระดับกลางและล่างเกือบทั้งหมดจึงเป็นกรวยโปลี่

          นอกจากนั้น ยังมีการเติมผงวัสดุบางอย่างเช่น คาร์บอนกราไฟต์หรือเคลือบผิวด้วยผงทรายหรือเซรามิคหรือทำแผ่นโลหะบางประกบไส้ในโปลี่แบบแซนด์วิชเพื่อเพิ่มคุณภาพเสียง ซึ่งบางยี่ห้อก็ทำออกมาได้ดีจนใกล้กรวยกระดาษเข้าไปทุกที ส่งผลให้ความนิยมกรวยกระดาษดีๆ(ที่ผลิตแบบเยอะๆเร็วๆไม่ได้)ลดลง คือ ผู้ผลิตหนีต้นทุนได้ดีกว่า เกือบจะพูดได้ว่ากว่า 90 % ของดอกลำโพงจะใช้กรวยโปลี่ฯทั้งนั้น และก็มีหลากหลายคุณภาพจริงๆ เป็นที่น่ายินดีว่าแม้แต่ชุดลำโพง  ราคาถูกที่ใช้ดอกกรวยโปลี่ ก็ทำออกมาให้เสียงและมิติที่ดีเกินราคาอย่างน่าแปลกใจมาก แซงดอกกรวยกระดาษพื้นๆถูกๆไปหมด ยิ่งถ้าใช้กับลำโพงรถยนต์ที่ทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แย่ไปหมดกรวยโปลี่จะทนทานกว่ากรวยกระดาษถูกๆอย่างแน่นอน

          ดอกกรวยไฟเบอร์ เนื่องจากวัสดุเคฟร่ามีราคาแพง จึงมีการนำพลาสติกไฟเบอร์มาปั้มให้เป็นลาย ถักเลียนแบบกรวยเคฟร่าแถมใส่สีเหลืองคล้ายกัน (แต่เคฟร่าจะเป็นลายเส้นมัดๆหยาบกว่า และกรวยไฟเบอร์สีจะเหลืองอ๋อย,สว่างกว่า) อีกวิธีคือดูจากราคาขาย ถ้าราคาถูกมากก็แสดงว่าเป็นกรวยไฟเบอร์

          กรวยไฟเบอร์จะให้ช่องไฟระหว่างตัวโน้ต ความสงัด ได้น้องๆเคฟร่า แต่จะไม่กระชับเท่า รายละเอียดของหัวโน้ตหรือเสียงผิวกระทบ (TEXTURE) จะสู้เคฟร่าไม่ได้คือจะคลุมเครือกว่า ความกระชับของทุ้มน้อยกว่า ทุ้มไม่เป็นกลุ่มก้อน หรือเป็นลูกทิ้งตัวลงพื้นเท่าเคฟร่า ความมีชีวิตชีวาสู้เคฟร่าไม่ได้ แต่โดยรวมๆก็ถือว่าทำได้ถึง 70 – 80 % ของเคฟร่าทีเดียว ในราคาที่ถูกกว่าเยอะ แต่ก็ยังยุ่งยากและแพงกว่ากรวยโปลี่ จึงไม่ค่อยนิยมทำกันมากนัก นอกจากเรื่องของแฟชั่นมากกว่า คือถ้าลำโพงยี่ห้อดังใช้กรวยเคฟร่าสีเหลือง ก็จะมียี่ห้อโนเนมอยากอาศัยใบบุญดัง ก็จะใช้กรวยไฟเบอร์สีเหลืองทำเลียน แบบขึ้นมา

มิใช่เรื่องของกรวยดอกกลางทุ้มอย่างเดียว

          ในระบบลำโพงซึ่งต้องมีดอกเสียงแหลมด้วย เพราะดอกกลางทุ้มไม่สามารถให้เสียงความถี่สูงเกินกว่าประมาณ 8 KHz ได้ (ปลายแหลมไม่กรุ๊งกริ๊ง,ระยิบระยับ) และโดยส่วนใหญ่ก็ไปได้แค่ประมาณ 3 KHz ความถี่สูงกว่านี้หลายกรวยจะ เริ่มเสียงก้อง,อู้ หรือ ขึ้นจมูก บางกรวยจะทึบไปเลย จึงต้องอาศัยดอกเสียงแหลมมาเชื่อมต่อในช่วงความถี่สูงกว่านี้ อีกทั้ง การออกแบบระบบลำโพงก็มักจะตัดจุดแบ่งความถี่ไม่สูงนักเช่น 2 KHz บางยี่ห้อตัดที่ 1 KHz เท่ากับว่าดอกแหลมต้อง ทำงานแถวๆ 1 KHz – 2KHz ขึ้นไปสุ้มเสียงที่ได้ของ “ระบบ” ลำโพงนั้นยิ่งขึ้นอยู่กับตัวดอกแหลมมากขึ้นไปอีก ก็ต้องมาดูว่า ดอกแหลมใช้กรวยจิ๋วหรือโดมที่ทำด้วยอะไร แต่ถ้าการตัดแบ่งความถี่สูงขึ้นเช่น 4KHz หรือสูงกว่านั้นโดยดอกกลาง ทุ้มถูกปล่อยให้ออกเสียงตลอดช่วงความถี่อย่างอิสระเท่าที่ตัวมันเองจะไปได้ (FULL RANGE) ต่อตรงโดยไม่ผ่านวงจร แบ่งเสียง ซึ่งวิธีการนี้มักใช้กับดอกกลางทุ้มที่ตอบสนองความถี่ได้กว้างเช่นไปได้สูงถึงแถวๆ 8 KHz แล้วเอาดอกแหลมมา ต่อยอดแหลมปลายๆเท่านั้น กรณีนี้บุคลิกเสียงส่วนใหญ่จะเป็นไปตามบุคลิกของดอกกลางทุ้ม

          ในกรณีที่ระบบลำโพงนั้น ดอกแหลมทำงานที่ความถี่ประมาณ 1.5 KHz – 2 KHz ขึ้นไป(คือจุดตัดแบ่งความถี่ต่ำ) จะพบว่าบุคลิกเสียงจะเอนไปทางดอกแหลม นอกจากช่วงความถี่กลางต่ำลงมา จึงจะมีบุคลิกของดอกกลางทุ้มมากจนสังเกตได้

ถ้าพูดในแง่บุคลิกของดอกแหลม พอจะจับใจความได้ดังนี้

          ดอกแหลมแบบกรวย ก็จะให้บุคลิกเสียงแบบกรวยดอกกลางทุ้มที่กล่าวแล้วและโดยทั่วไปดอกแหลมที่จะใช้กรวยมักเป็นกรวยกระดาษ,กระดาษเคลือบ,หรือโปลี่โพไพลีน พวกถูกๆจะเป็นกระดาษปั้ม ซึ่งให้ปลายแหลมสุดสู้กระดาษเคลือบหรือโปลี่ฯไม่ได้ (แถวๆตั้งแต่ 18 KHz ขึ้นไป) อย่างไรก็ตาม ถ้าดอกกลางทุ้มใช้กรวยอะไรและเราใช้ดอกแหลมที่กรวยวัสดุแบบเดียวกัน จะให้ความกลมกลืนของน้ำเสียงได้ดีกว่าใช้วัสดุต่างกัน แม้วัสดุดอกแหลมจะดีกว่าด้วยซ้ำ

          ดอกแหลมแบบโดม ดอกแหลมแบบโดมได้รับความนิยมมากที่สุดถึง 98 % ในท้องตลาด เนื่องเพราะมันให้เสียงที่ “กระเด็นหลุด”ออกมาได้ดีกว่าแบบกรวย เสียงจะล่องลอยอิสระกว่า เป็นตัวตนกว่า แต่ก็มีข้อเสียคือ รับกำลังขับแรงๆสู้แบบกรวยไม่ได้ ถ้าจะให้รับได้แรงจะต้องทำอย่างดีวอยส์คอยล์มหึมา แม่เหล็กใหญ่ โดมใหญ่ ซึ่งรวมแล้วราคาพุ่งลิบ (เช่นดอกแหลมในระบบ PA ที่เป็นแบบ COMPRESSION DRIVER)

          ดอกแหลมโดมผ้าเคลือบหรือไม่เคลือบ จะได้รับความนิยมมาประมาณ 40 % เนื่องเพราะมันให้สุ้มเสียงที่ “ฟังได้” เข้ากับดอกกลางทุ้มกรวยวัสดุต่างๆได้ค่อนข้างดี (นอกจากกรวยโลหะจริงๆ)  มันให้ความถี่ด้านต่ำที่ดี มีเนื้อหนัง มีมวล ไม่ทึบ ไม่โปร่ง สดสว่างเกินไป พูดง่ายๆว่า มันมีฮาร์โมนิกส์ดี จูนง่าย ราคามีตั้งแต่ถูกจนถึงแพงจัด โดมแหลมดีๆแบบนี้มักให้ความถี่สูงได้ไม่เกิน 20KHz – 25 KHz

          ดอกแหลมโดมโปลี่โพไพลีน เนื่องจากโดมโปลี่ทำให้มีราคาต่ำสุดจนถึงแพงสุดได้ อีกทั้งใช้มันเป็นฐานเพื่อเคลือบวัสดุไปบนผิวโดมได้ (เช่น ติตาเนี่ยม,โครเมี่ยม,เซรามิค,ทอง) ทำให้ผู้ออกแบบสามารถกำหนดเลือกบุคลิกเสียงที่ต้องการได้อย่างหลากหลายกว่าปกติ ผู้ออกแบบเลือกได้ทั้งในแง่ ความสวยงาม,ค่านิยมของตลาดตอนนั้น,คุณภาพจริงๆราคาจึงไม่น่าแปลกใจว่า ดอกแหลมโดมโปลี่จะครองส่วนแบ่งตลาดถึง 55 %

          ในแง่สุ้มเสียงถ้าโดมโปลี่ฯไม่เคลือบอะไร ก็คงเป็นเสียงแบบโปลี่คือสะอาด ใส โฟกัส แต่ความสด พลิ้ว กังวาน ระยิบระยับ จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของโปลี่ฯซึ่งมีสารพัดเกรดให้เลือก

          ถ้าเคลือบไมก้า,เซรามิค เสียงปลายแหลมมักห้วนไปหน่อย แม้ว่าจะกระชับโฟกัสดี

          ถ้าเคลือบโครเมี่ยม,ติตาเนี่ยม ปลายแหลมจะออกพลิ้วระยิบระยับ โครเมี่ยม (เงาสีเงิน) จะพลิ้วหวานมีเนื้อกว่าติตาเนี่ยม ติตาเนี่ยมจะหยุมหยิมระยิบระยับเป็นประกายส่วนทองจะอบอุ่นกว่า ประกายไม่สุกสกาวเท่าโครเมี่ยม หรือติตาเนี่ยม

          โดมโลหะ โดยตัวโดมทำจากโลหะนั้นๆเลย ที่เป็นชิ้นเดียวกับตัววอยส์คอยล์ก็มีบ้าง จะให้สุ้มเสียงแบบวัสดุที่เคลือบโปลี่ที่กล่าวแล้วแต่โดมโลหะแท้เหล่านี้จะมีราคาสูงมาก ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้ทำมีตั้งแต่อลูมิเนียม,ติตาเนี่ยม,เบอริเรี่ยม ผู้ใช้มักบ่นว่า โดมพวกนี้ให้ปลายแหลมที่ผอม,เส้นเล็ก,เป็นฟุ้งฝอย, ขาดมวล, เนื้อหนัง แม้ว่าจะชัด ,โฟกัสดี,ช่องไฟระหว่างตัวโน้ตดี ช่วยให้กลาง,ทุ้มหัวโน้ตคมชัดดี ให้เสียงที่เตะหูดี แต่ฟังนานๆกลับน่าเบื่อมักมีบุคลิกตายตัวตลอด นักออกแบบที่ชาญฉลาดถ้าจำเป็นต้องเลือกดอกโดมโลหะ จึงมักตัดแบ่งที่ความถี่สูงเช่น 4 KHz หรือทำเป็นดอกแหลมสุด หรือซูเปอร์ทวิตเตอร์ไปเลย (ต่อปลายแหลมสูงสุดจากดอกแหลมปกติอีกที เพราะดอกแหลมพวกนี้อาจให้ความถี่สูงได้ถึง 35 KHz บางรุ่นได้ถึง 120 KHz ซึ่งโดมแบบอื่นมักทำไม่ได้)

อย่าลืมวงจรแบ่งเสียง

          ไม่ใช่เฉพาะดอกกลางทุ้ม หรือดอกแหลมที่เป็นตัวกำหนด บุคลิกเสียงของระบบลำโพง วงจรแบ่งเสียงเองก็มีผลอย่างยิ่งยวด (ได้แก่การตัดแบ่งความถี่ที่จุดไหนสูงหรือต่ำ, การกรองนั้นชันเด็ดขาดแค่ไหน,การจัดสมดุลระดับเสียงของดอกลำโพง,อุปกรณ์ที่ใช้มีบุคลิกเสียงเป็นอย่างไร,ทิศทางของขาอุปกรณ์,ของขาเสียบตัวยูปลายสายลำโพง,การจัดวางอุปกรณ์บนแผงวงจร,การใช้แผงหรือต่อตรงระหว่างขาอุปกรณ์ (HARD WIRE),แผงวงจรอยู่ภายในตู้หรือนอกตู้แยกกล่องต่างหาก,ดอกลำโพงนั้นมีการปิดผนึกป้องกันกวนหลอดภาพหรือไม่,กันแม่เหล็กห่อหุ้มด้วยยางหรือไม่(ไม่ควรครอบยาง),มีแผ่นสติ๊กเกอร์ปะที่ก้นแม่เหล็กหรือไม่,ระบบตู้ลำโพงแบบเปิดหรือปิด ตำแหน่งการติดตั้งดอกลำโพงทั้งหลาย(ห่างกันหรือชิดติดกัน),ตำแหน่งรูระบายอากาศบนตู้,ความนิ่งมั่นคงของตัวตู้เอง, หน้ากากลำโพง(ควรถอดออก),ปากแตรหน้าดอกลำโพง,ตัวบังหน้าโดมดอกแหลม

          สรุป  จะเห็นว่า ชนิดของวัสดุที่นำมาทำกรวยดอกลำโพง หรือโดมลำโพง เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่กำหนดคุณภาพ,บุคลิกเสียงเท่านั้น (40 – 50%) ของทั้งระบบลำโพง ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากซึ่งไม่ควรมองข้ามไป

          หมายเหตุ มีแฟนคลับถามไถ่ว่า พักหลังผมไม่ค่อยเขียนรายงานทดสอบ สาเหตุคือ ผมคิดว่า สิ่งที่น่าจะมีประโยชน์โดยตรงต่อการตัดสินใจเลือกหรือซื้อเครื่องเสียงน่าจะเป็นความรอบรู้ที่ช่วยให้ตัดสินใจได้เอง ดุจดังผมสอนวิธีจับปลาให้แทนที่จะออกไปจับปลามาวางให้รับประทาน ซึ่งผมอยากติดปัญญาเพื่อแฟนคลับมีอิสระและยิ่งอ่านยิ่งฉลาด พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่ต้องคอยให้นักวิจารณ์มาบงการหรือจูงจมูกอย่างไม่รู้จบ

สินค้าน่าสน

          BOSTWICK ออกลำโพงเสียงแหลมใหม่ล่าสุด  T-RB1 เป็นลำโพงระบบริบบ้อน ซึ่งให้การตอบสนองความถี่ได้สูงกว่าลำโพงเสียงแหลมทั่วไปเกือบ 2 เท่า คือไปได้ถึง 40KHz โดยความถี่ต่ำลงได้ถึง 3 KHz จึงเหมาะกับระบบลำโพงที่ ดอกกลางทุ้มทำงานให้ความถี่สูงได้ถึง 4 KHz ซึ่งส่วนใหญ่ตัวดอกกลางทุ้มเองจะไปได้อยู่แล้ว แต่กว่าครึ่งจะตัด แบ่ง ความถี่ที่ 2 KHz บางรุ่นตัดที่ 1 KHz ก็มี ผลคือถ้ายกดอกแหลมเดิมออกแล้วใส่ T-RB1 เข้าไปดื้อๆโดยผ่านกล่องแบ่งเสียง ของ T-RB1 อีกทีด้วย (เท่ากับตัดแบ่งความถี่ออกดอกริบบ้อน 2 ครั้ง โดยจากกล่องแบ่งความถี่เดิม กับกล่องที่มากับ T-RB1) จะเกิดช่องโหว่ของเสียงประมาณ 1KHz ถึง 3KHz หรืออย่างน้อย 2 KHz ถึง 3 KHz เสียงกลางและทุ้มจะขาดความ คมเข้ม จะฟังคลุมเครือมนๆ แม้จะมีเสียงแหลมออก เสียงตีกลอง,ระนาด,เปียโน ฯลฯ จะเหมือนหุ้มผ้า ไม่มีเสียงกระทบ อย่าหลงชดเชยด้วยการยกเสียงแหลมปลายแหลมจะจัดกร้าวทันที

          ถ้าจะให้ดี ให้ตัดวงจรแบ่งเสียงเดิมออก (ในกรณีที่ดอกกลางทุ้มให้เสียงสูงได้พอควรอยู่แล้ว เช่น ฟังเสียง “ส”เป็นสอ ไม่ใช่อ๋อ) แล้วปล่อยเสียงทุกความถี่ออกดอกกลางทุ้มเลย ต่อขนานแบ่งสัญญาณมาเข้ากล่องแบ่งเสียง T-RB1 ออกดอก ริบบ้อน

          แต่ถ้าชุดลำโพงเดิม ดอกกลางทุ้มออกเสียงแหลมพอได้อยู่แล้วตัว “ส” เป็น สอ ก็แค่เอาดอกแหลมเดิมออก เอาชุด T-RB1 (กล่องแบ่งเสียง) ต่อขนานกับขาเข้าของกล่องแบ่งเสียงเดิมเท่านั้น

          ทั้ง 2 กรณีอย่าลืมเช็คเฟส ลองสลับขั้วสายลำโพงที่เข้าดอกกลางทุ้มกับดอก T-RB1 ให้ขยับทิศทางเดียวกัน ( IN PHASE)ด้วย

          ขนาดของตัวกำเนิดเสียง (ริบบ้อน) 8x45 มม,ความไว 90 dB ,รับกำลังขับได้สูงสุด (ผ่านตัวกรอง) 150W ความ ต้านทาน 4 โอห์ม ราคาขายประมาณคู่ละ 4,900 บาท

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459